วันพุธที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2553

การสอนภาษาไทยสำหรับผู้ไม่รู้หนังสือ


ข้าพเจ้าค้นบทความเพื่อการศึกษาและได้ค้นเจอกับบทความนี้เข้าซึ่งน่าจะมีประโยชน์สำหรับคนหลายๆคนนะจ้ะเพราะแค่ดูชื่อเรื่องมันก็น่าสนใจดีจึงได้คัดบทความของ อนงค์ เชื้อนนท์ มาให้ดูกันจ้า ในบทความเขียนไว้ว่า

คนส่วนใหญ่คิดว่า การสอนภาษาไทยสำหรับผู้ไม่รู้หนังสือเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่โดยแท้จริงแล้วการนำภาษาไทยมาวิเคราะห์สังเคราะห์และสอนภาษาไทยแบบง่าย ๆ สำหรับผู้ไม่รู้หนังสือ
เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่ควรเริ่มสอนด้วยการให้ผู้เรียนหัดเขียน ก ข ค
ก่อน เพราะผู้เรียนจะเริ่มเรียนสิ่งที่ยากก่อน ควรเริ่มจากสอนจากเรื่องง่าย ๆ ก่อน
วิธีสอน 5 ขั้นตอน
1. เริ่มสอนการฟังก่อน ถ้าเป็นเด็กควรเริ่มหัดฟังสิ่งต่าง ๆจากง่าย ๆ รอบตัวก่อน เช่น เสียงไก่ขัน เสียงนกร้อง เสียงน้ำตก เสียงรถยนต์ แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่ควรเริ่มฟังเป็นคำ ๆ ประกอบท่าทาง
ครูออกเสียงคำให้ฟัง
การแสดงท่าทางประกอบ
ชี้รูปภาพ หรือของจริง
การแนะนำคำต่าง ๆ พร้อมท่าทางประกอบควรพูดแนะนำ 3-5 ครั้ง ให้ผู้เรียนจดจำได้ อย่ารีบร้อนให้ผู้เรียนพูด ครูควรแน่ใจว่าผู้เรียนสามารถฟังได้ดี เรียกว่า หูกระดิก ฟังจนจับใจความเสียงที่ครูเปล่งชัดเจนดีแล้ว จึงเริ่มสอนขั้นตอนต่อไป
ควรสอนการฟังสอดแทรกวันละ 15-20 นาที และควรสอนคำวันแรกไม่เกิน 10 คำ (เช้า 5 คำ บ่าย 5 คำ) วันหนึ่งถ้าสอนมากไปจะจำไม่ได้เลยเพราะสับสน วันที่สองและวันต่อ ๆ มา ก็เพิ่มศัพท์ขึ้นเรื่อย วันแรก 10 คำ วันที่สอง 10 คำใหม่ (บวก 10 คำวันแรก สอนทบทวน) เพราะฉะนั้นวันที่สองจะได้รู้คำศัพท์ 20 คำ วันที่สามและสี่เพิ่มคำศัพท์ขึ้นเรื่อย ๆ จนครอบคลุมวงคำศัพท์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน(สำหรับผู้ไม่รู้หนังสือ ควรสอนประมาณ 600 คำ)
2. ฝึกสอนการพูด ให้ฝึกสอนพูดจากสิ่งใกล้ตัวผู้เรียนก่อน ได้แก่คำทักทาย สวัสดี
ขอโทษ ขอบคุณครับ(ค่ะ)
ต่อมาให้รู้จักพูดชื่อครูและชื่อตนเอง พูดเกี่ยวกับอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น หน้า ผม ตา จมูก มือ เท้า แขน ขา และอิริยาบถต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน วิ่ง ต่อมาให้ผู้เรียนสามารถ เรียกชื่อวัตถุสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ในโรงเรียน เช่น สมุด ดินสอ ปากกา ยางลบ ไม้บรรทัด หน้าต่าง ประตู โต๊ะ เก้าอี้ กระดานดำ กระดาษ ฝึกสอนพูดเป็นคำก่อน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถจับคู่คำที่พูดและภาพได้
3. ฝึกอ่าน อาจฝึกอ่านได้หลายวิธี แล้วแต่ความพร้อมของผู้เรียน ครูบางคนอาจฝึกอ่านจากตัวอักษร เริ่มจาก ก ไปจนถึง ฮ แต่ให้สอนอ่านวันละ 5-10 ตัว พอครบ 4 วัน สอนเสร็จหมด 44 ตัวอักษร วันที่ 5 ก็ให้ทบทวนตัวอักษรทั้งหมด โดยชี้แบบไม่เรียงตัว แต่ถ้าจะให้สนุกต้องร้องเพลงประกอบจะทำให้จำได้ดี
4. ฝึกเขียน
เริ่มตั้งแต่ฝึกเขียนพยัญชนะ ก ถึง ฮ ซึ่งวิธีนี้มักนิยมกันอย่างแพร่หลาย หรืออาจลองฝึกหัดเขียนโดยเน้นเขียนตัวที่ฝึกง่ายก่อนก็ได้ หรือตัวที่เขียนคล้าย ๆ กันก่อน เพราะฝึกเขียนง่ายและเป็นรูปแบบใกล้เคียงกัน


5. ฝึกคิดและวิเคราะห์ ครูอธิบายตัวอักษรแต่ละตัวจนผู้เรียนเกิดความเข้าใจ ไม่ได้ท่องจำเท่านั้น แต่ครูจะต้องทราบพื้นฐานของผู้เรียนว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์(กลุ่มกะเหรี่ยง)ที่ไม่ได้พูดภาษาไทยเป็นภาษาแรก บางคนพูดภาษาแม่ก่อน จึงมาเรียนมาไทยทำให้ต้องมีวิธีการเรียนภาษาไทยที่แตกต่างจากผู้เรียนที่พูดภาษาไทยตั้งแต่เกิด
นอกเหนือจากวิธีสอน 5 ขั้นตอนแล้ว ครูสอนภาษาไทยสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์จะต้องมีความเป็นกันเองทำให้ผู้เรียนไว้วางใจ มีความตั้งใจ และความเอาใจใส่เป็นพิเศษ สิ่งสำคัญครูต้องรักภาษาไทยและรักษาการสอนภาษาไทยเป็นชีวิตจิตใจ เมื่อนั้นแหละ การสอนภาษาไทยสำหรับผู้ไม่รู้หนังสือจะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน

หากท่านคนไหนสนใจบทความนี้อย่างละเอียดท่านเข้าไปดูในเว็บข้างล่างนี้ได้เลยจ้า

หมายเหตุ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จาก
http://www.oknation.net/blog/anong

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น